มาศึกษา วงจรชีวิตปูม้า กัน

มาศึกษา วงจรชีวิตปูม้า กัน

เคยสงสัยกันไหมว่า ปูม้าเกิดมาอย่างไรวันนี้เราจะพามาดู วงจรชีวิตปูม้า กัน เริ่มตั้งแต่ระยะเวลาที่พ่อปูแม่ปูเจอกัน หาเวลาที่เหมาะกับการผสมพันธุ์ และตามมาที่การผสมพันธุ์ของพ่อปูแม่ปูกันว่าใช้เวลากี่วัน ไข่ถูกนำพาไปไหน ขนาดสีของไข่ และ สุดท้ายไปที่ วงจรชีวิตปูม้า ว่ามีกี่ระยะ แต่ละระยะเรียกว่าอะไร เพื่อจะได้เข้าใจของวงจรชีวิตของปูกันได้อย่างละเอียด

ปูม้า จะเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อปูม้ามีอายุประมาณ 3 เดือน  ความกว้างของกระดองอยู่ที่ 4.5 เซนติเมตร จะมีการวางไข่ตลอดปี โดยก่อนผสมพันธุ์ ปูตัวผู้จะลอกคราบก่อนประมาณ 7-10 วัน เมื่อกระดองแข็งสมบูรณ์เต็มที่พร้อมที่จะเริ่มหาปูตัวเมียไว้ประมาณ 3-4 วัน จนกระทั่งรอปูตัวเมียลอกคราบสลัดคราบเก่าทิ้งเพื่อให้ลำตัวนิ่ม ซึ่งช่วงนี้เองปูตัวผู้จะใช้ก้ามหนีบโคนก้ามของปูตัวเมียเพื่อจับให้นิ่ง

จากนั้นจะสอดตัวเข้าไประหว่างจับปิ้งของปูตัวเมียเพื่อสอดอวัยวะสืบพันธุ์ตัวผู้ คู่ที่มีลักษณะที่ยาวเรียวแหลมเล็กเข้าในรู เปิดของปูตัวเมียใต้จับปิ้งตรงบริเวณโคนขาของคู่ที่สาม และเพื่อให้การผสมพันธุ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรง รยางค์คู่สั้นทำหน้าที่ยึดหน้าท้องปูตัวผู้ให้ติดกับหน้าท้องของปูตัวเมียนั้นเอง

ช่วงนี้ปูตัวผู้จะใช้ขาพยุงตัวเองไว้เพื่อไม่ให้ปูตัวเมียที่นิ่มเป็นอันตราย โดยปูตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อไว้ในถุงเก็บน้ำเชื้อภายในปูตัวเมีย และรอเวลาผสมกับไข่ที่ส่งมาตามท่อนำไข่  ซึ่งขั้นตอนการผสมพันธุ์นี้ใช้เวลา 12-15 ชั่วโมง และน้ำเชื้อจะมีอายุประมาณ 3-4 เดือน แล้วปูตัวเมียจะกลับตัวอยู่ในท่าปกติ ปูตัวผู้ก็จะเกาะหลังปูตัวเมียอีก 1-2 วัน จนกระทั่งกระดองตัวเมียแข็ง จึงแยกออกจากกัน

 

 

หลังจากที่ พ่อปูและแม่ปูได้ผสมพันธุ์กันแล้วประมาณ 20-30 วัน ไข่จะถูกส่งมาตามท่อนำไข่เพื่อผสมกับน้ำเชื้อ ส่งเก็บไว้ที่หน้าท้อง ไข่ที่ผสมแล้วจะเริ่มมีขนาดโตขึ้นจนล้นจับปิ้ง เราเรียกระยะนี้ว่าปูไข่นอกกระดอง ไข่จะเปลี่ยนสีจากเหลืองอ่อนเป็นเหลืองเข้ม น้ำตาลอ่อน และ น้ำตาลตามมา  ประมาณ 10-15 วัน แม่ปูก็จะใช้ขาเดินเขี่ยไข่ให้หลุดจากจับปิ้ง ปล่อยลอยไปในทะเล โดยเราจะเห็นไข่ที่แก่เต็มมีลูกตาเป็นจุดสีดำภายใน ไข่จะใช้เวลาฟักเป็นตัวภายใน 1-2 วัน

ปูแม่หนึ่งตัวมีไข่ประมาณ 120,000-2,300,000 ฟอง แต่จะเหลือรอดจริง ๆ ประมาณ 10% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก จากนั้นไข่จะพัฒนาการเข้าสู่ระยะที่หนึ่งที่เรียกว่า  “ซูเอี้ย” Zoea  โดยมีหน้าตาที่ยังไม่เหมือนปูเลยสักนิดแต่ดูคล้ายกับ ลูกน้ำ-ลูกไร เสียมากกว่า และเมื่อเวลาผ่านไป “ลูกปูม้า” ระยะซูเอียนี้แบ่งออกเป็น 4 ขั้นด้วยกัน คือการพัฒนาสู่อีกระยะหนึ่งใช้เวลา 3-4 วัน

จนกระทั่งเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้นโดยมีก้ามโผล่ออกมา พร้อมกับเปลี่ยนพฤติกรรมการหากินจาก ผิวน้ำลงไปยังหน้าดิน ที่เรียกว่า “เมกาโลปา” Megalopa ใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน และลูกปูจะดำรงชีวิตในระยะเมกาโลปาอีก 2-6 วัน และต่อมาพัฒนาจนเป็น “ปูวัยอ่อน” Young Crab  ที่มีหน้าตาเป็น ปูเต็มตัวที่เหมือนพ่อและแม่ของมัน ซึ่งปูวัยอ่อนละมุนนี้สามารถปล่อยลงทะเลได้รวมระยะเวลาทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25 วัน

 

เป็นอย่างไรกันบ้างได้รู้เกี่ยวกับ วงจรชีวิตของปูม้ากันแล้ว กว่าจะเติบโตมาเป็น ปูม้าแสนสวยให้เราได้ทานอาหารจานโปรดได้อย่างอเอร็ดอร่อยกันได้ต้องใช้ระยะเวลาในการเติบโตอยู่พอสมควร ฉะนั้นระหว่างที่ปูผสมพันธุ์กันในท้องทะเล เราก็อย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือจับมันในระหว่างนั้นกันเลย เรามีหน้าที่รักษาท้องทะเลให้สะอาดสวยใสเพื่อให้ปูได้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่กันดีกว่า

ขอขอบคุณเครดิตภาพจาก https://www4.fisheries.go.th